27 กุมภาพันธ์ 2518 จัดตั้ง“วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตครูอาชีวศึกษาระดับปริญญาตรี ให้การศึกษาด้านอาชีพต่ำกว่าปริญญาตรี ระดับปริญญาตรี และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัยส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิชาชีพและให้บริการวิชาการแก่สังคม
15 กันยายน 2531 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” มีภารกิจหลักคือ จัดการศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี(ระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ระดับปริญญาตรี และระดับประกาศนียบัตรบัณฑิต) ทั้งนี้ ได้จัดการเรียนการสอนควบคู่กับการทำวิจัย สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ทำนุุบำรุงศาสนาศิลปวัฒนธรรมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย
18 มกราคม 2548 ได้รับการสถาปนาขึ้นในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ.2548 เกิดจากการรวมวิทยาเขตต่าง ๆ มากกว่า 35 วิทยาเขตทั่วประเทศ จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน 9 มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครจึงเกิดขึ้นจากวิทยาเขตเดิม 5 แห่ง ที่มีพื้นที่ไม่ห่างไกลกัน ได้แก่ วิทยาเขตเทเวศร์ วิทยาเขตโชติเวช วิทยาเขตพณิชยการพระนคร วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และวิทยาเขตพระนครเหนือโดยจัดเป็น พื้นที่ 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์เทเวศร์ ศูนย์โชติเวช ศูนย์พณิชการพระนคร และศูนย์พระนครเหนือ จึงนับได้ว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เป็นสถาบันการศึกษาที่จัดการเรียนการสอนสายวิชาชีพที่มีชื่อเสียงและมีความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพมาเป็นเวลานาน
ในปีการศึกษา 2558 จัดการศึกษาในระดับปริญญาเอก ปริญญาโท ประกาศนียบัตรวิชาชีพบัณฑิตปริญญาตรี และประกาศนียบัตรวิชาชีพ รวม 58 หลักสูตร ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ยึดมั่นในการ สร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยแบ่งการจัดการเรียนการสอน ออกเป็น 9 คณะ ได้แก่
- คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
- คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์
- คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน
- คณะบริหารธุรกิจ
- คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- คณะวิศวกรรมศาสตร์
- คณะศิลปศาสตร์
- คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น
- คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ครบรอบ 11 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559
ตราประจำมหาวิทยาลัย
เป็นตรารูปวงกลมมีรูปดอกบัวบาน 8 กลีบล้อมรอบดอกบัวบาน 8 กลีบ หมายถึง ทางแห่งความสำเร็จ มรรค 8 และความสดชื่นเบิกบานที่ก่อให้เกิดปัญญาแผ่ขจรไปทั่วสารทิศภายใต้ดอกบัวเป็นดวงตราพระราชลัญจกร บรรจุอยู่ อันเป็นสัญลักษณ์และเครื่องหมายประจำองค์พระมหากษัตริย์ของ รัชกาลที่ 9 บทตรารูปวงกลมมีพระมหาพิชัยมงกุฏครอบและมีเลข 9 บรรจุอยู่ หมายถึง รัชกาลที่ 9 ด้านล่างของตรารูปวงกลมทำเป็นกรอบโค้งรองรับมีชื่อ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร” คั่นปิดหัวท้ายของกรอบด้วยลวดลายดอกไม้ทิพย์พิมพ์ประจำยามทั้งสองข้าง หมายถึงความเจริญรุ่งเรือง แจ่มใส เบิกบาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล หมายความว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีอันเป็นมงคลแห่งพระราชา”
สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัย
แนวความคิดมาจากดอกบัว ซึ่งมีห้ากลีบแทนจำนวนวิทยาเขตเดิมที่มารวมกันเพื่อความเป็นหนึ่งกลมเกลียวกัน โดยสีม่วงแสดงถึงสีประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
สีประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย
“บัวฉลองขวัญ” หรือ “คิง ออฟ สยาม” เป็นบัวสกุลบัวผัน ที่เกิดความงามได้เพราะความสามารถของคุณชัยพล ธรรมสุวรรณ ที่นำเกสรของไดเรกเตอร์ จี.ที.มอร์ (Director G.T.Moore) มาผสมกับทองสุก เมื่อปี พ.ศ.2542 แล้วนำไปปลูกยังดินแดนต่างประเทศจนได้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “คิง ออฟ สยาม” ฉลองขวัญ
ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย
อินทนิล
ชื่ออื่นๆ : อินทนิล, จ่อล่อ, จะล่อหูกวาง
ชื่อสามัญ : Queen’s flower, Queen’s crape myrtle
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lagerstroemia macrocarpa wall.
วงศ์ : LYTHRACEAE
ลักษณะทั่วไป : เป็นไม้ต้น ผลัดใบสูงประมาณ 5-12 เมตร เป็นไม้ทรงพุ่ม เปลือกต้นสีน้ำตาล ผิวเปลือกต้นแตกเป็นร่องตื้นเป็นไม้ที่ให้ร่มเงาอินทนิลเป็นเป็นพรรณไม้ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมและเจริญเติบโตในทุกภาคของประเทศไทย มีความหมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองอายุยืนนาน